FUTURE XRAY : ALL ABOUT PROTECTION
กระทรวงสาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักปรมณูเพื่อสันติ

Hotline :

062-349-3034

063-270-9733

New to site?


Login

Lost password? (close)

Already have an account?


Signup

(close)
HomeUncategorizedบุคลากรทางรังสี ภายในสถานประกอบการ
Home บุคลากรทางรังสี ภายในสถานประกอบการ
28
Jan
บุคลากรทางรังสี ภายในสถานประกอบการ

      “ลูกพี่ครับ…. HSE ของลูกค้าแจ้งผ่านมาทาง Project Site Manager  ต้องการให้เราจัดหา เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยทีมปฏิบัติงานทางรังสี ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานครับ (คนเฝ้าเป็ด)…..ลูกค้าอ้างอิงตาม กฎ กระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวด ล้อมในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547 คร้าบบบบ!!!”

    ผมถอนหายใจ สองเฮือกติด….. ไม่ใช่เพราะจิตสำนึกในการให้บริการต่ำ หรือมีทัศนคติเลวร้าย มองเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่ผมกำลังรู้สึกทอดถอนใจให้กับความซ้ำซ้อน และไม่ชัดเจนของกฎ ที่ใช้ในการกำกับดูแลความปลอดภัย ของงานรังสีอุตสาหกรรม   ผมรู้สึกเห็นใจ และเข้าใจในความสับสน และวิตกกังวลของลูกค้า…..”กฎที่ไม่ชัดเจน นำมาซึ่งความสับสนล้มเหลวในการปฏิบัติเสมอ”  โดยเฉพาะกฎที่ใช้ในการควบคุม/กำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยฯ ที่มีผู้มีอำนาจรัฐถึง 2 ภาคหน่วย เข้ามาจัดการดูแล……โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนในเรื่องของบุคลากรทางด้านรังสี ภายในสถานประกอบการ

     บุคลากรทางรังสี ในปัจจุบัน

    1 ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการทางเทคนิค  ในเรื่องรังสี    (กระทรวงแรงงานฯส่งเข้าประกวด)

    2 ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการทางเทคนิค  เกี่ยวกับรังสี   (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)
    2.1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ทางรังสี ระดับต้น/กลาง/สูง (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)

    3 ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิวเคลียร์ (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯส่งเข้าประกวด)

    4 ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี (นายจ้างส่งเข้าประกวด)

    การที่จะสามารถแยกแยะความเหมือน และความแตกต่างของคุณสมบัติ และหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสี ที่ผมยกตัวอย่างในข้างต้น คุณกับผมจะต้องศึกษารายละเอียดของกฎหมายจำนวน 5 ฉบับ จาก 2 กระทรวง ที่มีชื่อชั้นตำแหน่งของบุคลากร ใกล้เคียงกันเหมือนแกล้งคนแก่ ซึ่งในกรณีนี้ลูกค้าของผมประเมินความสอดคล้องทางด้านกฎหมายตามกฎกระทรวงแรงงานฯ แต่จะขอให้มีการจัดสรรบุคลากร เพื่อประจำโครงการ หรือ Project Site ตามประกาศของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยความสับสน………..ผมไม่ได้มีความรู้สึกหงุดหงิดเบื่อหน่ายลูกค้าแม้แต่น้อย  เพราะผมเองที่รับผิดชอบงานความปลอดภัยทางรังสีโดยตรง ยังเคยนั่ง งงงวยงง เป็นไก่ตาแตกมาแล้ว

    ดังนั้นในการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลากรทางรังสี ภายในสถานประกอบการ เราคงต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นที่โคร้งสร้างหลักสำคัญของการบริหารจัดการงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยทางรังสีครับ   เริ่มต้นด้วยหน่วยงานของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎ สร้างระเบียบกำกับดูแลการดำเนินการของภาคเอกชน  ดังต่อไปนี้ครับ

     

          กฎหมายทางรังสีทั้งหมด ที่ออกโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง                 

            บทความที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้มีมุ่งหมายไปที่การวิพากษ์วิจารณ์การจัดการของภาครัฐ เพราะคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ พาลจะกลายเป็นแค่ “คนแก่” ที่ปากพร่ำบ่นไปเรื่อยเปื่อย โดยที่ตนเองก็ไม่รู้วิธี/ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน ผมอยากเป็นคนแก่ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความไม่สมบูรณ์แบบของโลกใบนี้ได้มากกว่า มันเท่กว่ากันเยอะ

           ดังนั้นต่อจากนี้เราลองมาช่วยกัน คิด วิเคราะห์ แยกแยะ  เจตนารมณ์ของกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดวางตัวขุนพลภายในสถานประกอบการของเรา ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายให้มากที่สุด ด้วยกันนะครับ!! 

     

    การจัดการบุคลากรทางรังสีภายในสถานประกอบการ 

    การจัดการบุคลากรทางรังสี ภายในบทความนี้ จะอ้างอิง/ประเมินความสอดคล้องตาม    กฎหมายที่ออกโดยกระทรวงแรงงานฯ และ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรายการกฎหมายที่ใช้ในการอ้างอิง  และขั้นตอนในการจัดการดังต่อไปนี้

    A  กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม
                          ในการทำงานเกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน พ.ศ. 2547 (กระทรวงแรงงานฯ)

    B  กฎ กระทรวง กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต และการดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุต้นกำลัง
                          วัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณู พ.ศ.2550 (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)

                 C  ประกาศคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรังสี พ.ศ.2504 พ.ศ.2549
                           (กระทรวงวิทยาศาสตร์)

    D  ประกาศ คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี
                           (กระทรวงวิทยาศาสตร์)

    E   พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551
                            (กระทรวงวิทยาศาสตร์)

    F   ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม
                            สาขานิวเคลียร์ พ.ศ. ๒๕๕๗ (กระทรวงวิทยาศาสตร์)

            ตอนนี้ทุกท่านมีกฏหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง วางกองอยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้วนะครับ เราจะมาเริ่มวิแคะแกะเกาโครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางรนังสีกันที่ละขั้นตอนไปพร้อมๆกัน (ดนตรีมา)……เริ่มต้นด้วย

    1  ทบทวนสถานะเบื้องต้นของสถานประกอบการ เพื่อพิจารณาการจัดการบุคลากรทางรังสี

    จากแผนภาพด้านบน เป็นตัวอย่างของแนวทางในการทบทวนสถานะเบื้องต้นของสถานประกอบการครับ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณา
    ตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ  ACDF ซึ่งกล่าวถึงบุคลากรทางรังสีที่ทางสถานประกอบการต้องจัดให้มี ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
    ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ภายในสถานประกอบการ หรือสถานที่ปฏิบัติงานอื่น (Project Site) โดยพิจารณาถึง อุปกรณ์/เครื่องมือทางรังสี ที่สถานประกอบการมีไว้เพื่อครอบครอง และใช้งานเป็นประเด็นสำคัญ!  ยกตัวอย่างเช่น

    สถานประกอบการ A

    ครอบครองและใช้งาน อุปกรณ์ถ่ายภาพทางอุตสาหกรรมด้วยรังสีแกมมา (Gamma Ray Projector) (ประเภท 2)
    ครอบครองและใช้งาน เครื่องวัดเชิงนิวเคลียร์, Nuclear Gauge  ( Level Gauge Cs-137) (ประเภท 3)

    ดังนั้นจากแผนภาพ สถานประกอบการ A จะต้องมีบุคลากรทางรังสีดังต่อไปนี้ครับ

    1.1  ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี (กระทรวงแรงงาน)

    1.2  ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค เกี่ยวกับรังสี (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)

    1.2.1  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี  ระดับกลาง (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)

    1.3  ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุม  สาขานิวเคลียร์ (กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ)

    จากตัวอย่างการทบทวนสถานะเบื้องต้น ในการจัดการบุคลากรทางรังสีตามแผนภาพด้านบน คงจะช่วยให้ทุกท่านพอจะมองเห็นภาพรวม ของการจัดการบุคลากรทางรังสี ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งนี้แผนภาพดังกล่าวยังคงไม่สามารถชี้บ่ง ถึงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรแต่ละตำแหน่ง ภายในสถานประกบการ หรือสถานที่ปฏิบัติงานอื่น (Project Site) ได้ และผมเชื่อว่าทุกท่านยังมองไม่เห็นถึงความเหมือน หรือความแตกต่างของบุคลากรทั้ง 1-3 ที่ผมนำเสนอและยกเป็นตัวอย่าง

    ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปของการจัดการบุคลากรทางรังสี  ผมจะนำเสนอถึงภาพรวมของขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสีอ้างอิงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

    2 การจัดการบุคลากรทางรังสี อ้างอิงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ของบุคลากรทางรังสีตามเจตนารมณ์
                         ของกระทรวงแรงงานฯ

    ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี

            คุณสมบัติ(สมรรถนะ)

              สำเร็จการศึกษาไม่ตำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ศึกษาและสอบผ่าน
    วิชาเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างน้อยสามหน่วยกิจ

    …..หรือ…

    ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันอันตรายจากรังสี จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือหน่วยฝึก
    ที่กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานรับรอง

        หน้าที่ความรับผิดชอบ

                เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทางเทคนิค ในเรื่องรังสี ณ สถานประกอบการ และพื้นที่ปฏิบัติงานอื่น
    ตลอดระยะเวลาที่มีการปฏิบัติงานทางรังสี

                เสนอแนะ/ให้คำปรึกษาต่อนายจ้าง และลูกจ้าง เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทางรังสี
    รวมถึงให้คำปรึกษาต่อนายจ้าง ในการจัดทำระเบียบปฏิบัติ คู่มือ หรือกฎความปลอดภัยในการ
    ปฏิบัติงานทางรังสี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นแนวปฏิบัติ

                ตรวจสอบความปลอดภัย ในการปฏิบัติงานทางรังสี ซึ่งครอบคลุมทั้งการตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงาน
    และความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์/เครื่องมือทางรังสี พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อนายจ้าง   

                การแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสี

     การแจ้งรายงานการเปลี่ยนแปลงของจำนวน หรือปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสี

     รายงานการปฏิบัติงานผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิค ในเรื่องรังสี

     

    —-

    ผู้เขียนบทความ:   นายเทวัญ  ชื่นทอง

     วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ สาขา อาชีวอนามัยฯ
     มหาวิทยาลัย มหิดล PH045-Koon52-Occ.36
     ผู้จัดการแผนกความปลอดภัยฯ
     เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ ระดับวิชาชีพ
     เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ระดับกลาง
     ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ควบคุม สาขานิวเคลียร์

     บทความทั้งหมดนี้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗


      Related Posts
      Leave A Comment

      Leave A Comment