FUTURE XRAY : ALL ABOUT PROTECTION
กระทรวงสาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักปรมณูเพื่อสันติ

Hotline :

062-349-3034

063-270-9733

New to site?


Login

Lost password? (close)

Already have an account?


Signup

(close)
HomeUncategorizedนวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
Home นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
28
Jan
นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

    ถ้าไม่ใช่ตำแหน่งทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้ ว่าหัวใจนั้นอยู่ที่หน้าอกข้างซ้าย เราคงต้องสับสนในชีวิตกันเป็นแน่ ว่าแท้จริงแล้วใจของเรานั้นอยู่ตรงไหน เพราะมันช่างอ่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา อกหัก รักคุด เศร้าใจ ดีใจ อะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด ไม่ว่าอะไรก็เกี่ยวกับใจทั้งนั้น นี่แค่เรื่องของภาวะจิตใจนะคะยังสับสนได้ขนาดนี้ แล้วหัวใจที่อยู่ในอกข้างซ้ายของเราล่ะ หากเกิดสิ่งผิดปกติขึ้นเราจะดูแลรักษามันได้อย่างไร ไอเกิล ได้รับเกียรติจาก นพ.สราวุธ ลิ้มตั้งตุระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ เฉพาะทางด้านการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขยายหลอดเลือดโดยใช้สายสวน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา (Director of Catheterization Laboratory Coronary  and Endovascular Intervention) มาให้ความรู้เกี่ยวกับ นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

    คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ถ้าแพทย์แจ้งผู้ป่วยว่าเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ( Coronary artery disease) ผู้ป่วยมักมีความกังวลเนื่องจากการรักษาอาจต้องถึงกับผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (coronary bypass graft surgery) แต่ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการรักษาภาวะนี้ด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous coronary intervention) ซึ่งไม่ใช่การผ่าตัด ข้อดีของวิธีนี้คือ แผลเล็ก ต่างจากการผ่าตัด ใช้เวลาในการพักฟื้นหรืออยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า นวัตกรรมนี้ทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเข้าถึงการรักษามากขึ้น และไม่กลัวมากเหมือนแต่ก่อน

    บางท่านคงสงสัยว่าการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจมีขั้นตอนการทำอย่างไร น่ากลัวหรือไม่ สามารถอธิบายง่ายๆ โดยรูปภาพ(1) ดังนี้ครับ

    ผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด เมื่อมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการตีบของหลอดเลือดซึ่งเป็นทางผ่านของเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ มีผลให้เกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardial ischemia) ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก(Angina pectoris) บางรายมีอาการเหนื่อยง่าย (Dyspnea on exertion) หรือน้ำท่วมปอด (Pulmonary edema)

    การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด คือการสอดใส่ลูกโป่งชนิดพิเศษ (Coronary balloon) ขนาดเล็กๆ  (เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0-4.0 mm) เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจตรงบริเวณที่มีการตีบ หลังจากนั้นก็ทำการกางบอลลูน เพื่อขยายหลอดเลือดส่วนนั้น ดังรูป(2) แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการขยายหลอดเลือดโดยบอลลูนเพียงอย่างเดียวนั้น หลอดเลือดสามารถกลับมาตีบซ้ำขึ้นใหม่ (Restenosis) โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการหดกลับของหลอดเลือด (Elastic recoil)

    ต่อมาจึงมีการใช้ ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Coronary stent) (ภาพที่ 3) โดยจะใส่ในผู้ป่วยที่ทำการขยายหลอดเลือดโดยบอลลูนทุกราย ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดทำจากโลหะชนิดพิเศษ เช่น stainless steel,cobaltchromium, platinum ขดลวดรุ่นแรกๆ เป็นขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดไม่เคลือบยา( Bare metal stent) พบว่าหลังจากรักษาไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดการตีบซ้ำขึ้นมาใหม่ได้(Instent restenosis) แต่ก็ยังน้อยกว่าการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว โดยกลไกเกิดจาก มีการสร้างพื้นผิวมาปกคลุมขดลวดภายในหลอดเลือดหัวใจมากผิดปกติ( Neointimal hyperplasia,Negative remodeling) โดยปกติแล้วอัตราการตีบซ้ำหลังการใส่ขดลวดชนิดไม่เคลือบยาจะอยู่ที่ประมาณ 15-20%, ต่อมาจึงมีการคิดค้นขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดเคลือบยาขึ้นมา(Drug eluting stent) โดยตัวยาที่นำมาเคลือบจะลดการตีบซ้ำ( Instent restenosis) ลงได้เหลือประมาณ 3-8% ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเลือกใส่ในผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดการตีบซ้ำในขดลวดสูงกว่าประชากรทั่วไปเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน

    ล่าสุดมีการคิดค้น โครงค้ำยันหลอดเลือดชีวภาพเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ (The Bioresorbable Vascular Scaffold: BVS) ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยมีลักษณะเหมือนกับขดลวดถ่างขยายขดลวดชนิดเคลือบยา แต่สามารถสลายไปได้ โดยทำจากวัสดุโพลีแลคไตล์ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ไหมละลาย ซึ่งมีข้อดีหลายประการเช่น ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาต้านเกร็ดเลือดหลังจากทำการรักษาเป็นเวลานาน เนื่องจากหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยโครงค้ำยันหลอดเลือดชีวภาพ ภายใน 3 ปีก็จะสลายไป จึงไม่ต้องกังวลหลังจากหยุดยาต้านเกร็ดเลือดแล้วจะเกิดปัญหาการเกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในขดลวด(Stent thrombosis)

    ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลหรือช่วยในการทำการรักษาอยู่หลายชนิด ยกตัวอย่าง เช่น สายวัดแรงดันในหลอดเลือดหัวใจ (Fractional Flow Reserve: FFR) ซึ่งจะช่วยในการพิสูจน์ว่าหลอดเลือดมีการตีบจริงหรือไม่ ซึ่งช่วยลดการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดที่ไม่จำเป็นลง, OCT (Optical Coherence Tomography) ซึ่งจะช่วยในการวัดขนาดหลอดเลือด, ระดับการตีบของหลอดเลือด,ใช้ตรวจหลอดเลือดหลังจากได้รับการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแล้วว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่

    สุดท้ายคุณหมอขอฝากไว้ว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นวิวัฒนาการของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงวิทยาการล่าสุดในการรักษา แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นหัตถการใดทางการแพทย์ล้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน (Complication) ได้เสมอ ดังนั้น ห้องทำบอลลูนขยายหลอดเลือด (Catheterization Laboratory Coronary and Endovascular intervention) ของแต่ละสถาบันจึงต้องมีการพัฒนาให้มีมาตรฐานและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิผลสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

     


      Related Posts
      Leave A Comment

      Leave A Comment